เผาไร่อ้อย เผากันไปทำไม? สงสัยมานานแล้ว..

เผาไร่อ้อย

วันนี้เป็นช่วงที่ผมเดินทางไปทำธุระ ที่ อ.พระแท่น จังหวัดกาญจนบุรี ผมเดินทางเริ่มต้นจาก จังหวัดอำนาจเจริญ รวมระยะทางแล้วก็ราวๆ หกร้อยกิโลเมตรกว่าๆ เมื่อใกล้ๆถึงสระบุรี เลือกใช้เส้นทางมายัง จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเข้ามายัง จังหวัดกาญจนบุรีครับ ช่วงสามจังหวัดนี้ตลอดทางที่ผ่านมา ตามข้างทาง ริมถนน จะเห็นพืชเศรษฐกิจหลักๆอยู่ 3 อย่าง คือเห็นนาข้าวเป็นบริเวณกว้าง เห็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ริมทาง เห็นบริษัทรับซื้อ มันสำปะหลัง ขนาดใหญ่ ผ่าน ต.ห้วยบง แหล่งกำเนิดมันสำปะหลังพันธุ์ยอดนิยม ห้วยบง 60,80 เห็นไร่อ้อย และมีรถบรรทุกอ้อยวิ่งตลอดเส้นทาง

พอมาถึงพระแท่น ก็แวะทานข้าว และเข้าพักโรงแรมเล็กๆแห่งหนึ่ง ในพระแท่น ก็เข้าพักโรงแรมเวลาประมาณ สองทุ่ม พอถึงหน้าห้องพัก มองออกไปทางนอกกำแพงของโรงแรม เห็นเปลวไฟลุกโชนเป็นวงกว้าง ไฟไหม้ขึ้นสูง เสียงลั่นออกมาจากไฟที่ไหม้เป็นวงกว้างออกมาเป็นระยะๆ เราจะมองเห็นไฟได้ชัดมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ฟ้ามืดแล้ว แต่ท่าทางน้องที่ดูแลโรงแรม ไม่มีอาการตกใจอะไรเลย เลยถามน้องว่า เค้าจุดไฟเผาอะไร หรือไฟไหม้กันแน่ครับ น้องเขาตอบด้วยเสียงเหน่อๆว่า “เขาเผาอ้อยพี่”

เราก็เลยเข้าใจเลยว่าน้องคงไม่ตกใจ เพราะมีไร่อ้อยข้างโรงแรม คงเห็นเป็นประจำ เลยคิดต่อ เราก็ได้ยินมานานแล้วนะ ว่า คนทำไร่อ้อยไม่น้อยเลย ชอบที่จะเผาอ้อยก่อนตัด…. แล้ว… เค้าเผาไร่อ้อยกันทำไม

สุดท้ายแล้ว หลังจากการรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น พอจะทราบได้ว่า ในเวลาตัดอ้อย หรือเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยนั้น ต้องใช้คนงาน หรือจ้างคนงานเข้าไปตัดอ้อย แต่ไร่ไหนที่ไม่เผาอ้อยก่อนที่จะให้คนงานเข้าไปตัด มักจะโดนปฏิเสธจากคนงาน ไม่ยอมรับงานเข้าไปตัด เพราะอ้อยสดนั้น ใบอ้อยคม คนงานเข้าไปตัดลำบาก จึงเกี่ยงกัน และเลือกที่จะไปตัดอ้อยให้กับไร่ที่เผาอ้อยก่อน เพราะทำงานได้สะดวกกว่า ประกอบกับเจ้าของไร่อ้อยนั้น ไม่มีทางเลือกด้านแรงงานมากนัก เพราะระยะเวลาในการเปิดหีบอ้อย และการรับซื้ออ้อยของโรงงานนั้น มีระยะเวลาจำกัด เป็นช่วงเวลาสั้นๆใน 1 ปี ชาวไร่อ้อยในพื้นที่ ต้องรีบตัดอ้อยไปส่ง ในช่วงที่โรงงานรับซื้อนั้น แรงงาน หรือคนงานตัดอ้อย เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก เจ้าของไร่ใด ที่อำนวยความสะดวกให้คนงานได้มากที่สุด ก็จะได้จ้างก่อน เจ้าของไร่อ้อย จึงใช้วิธีเผาไร่อ้อย เพื่อให้คนงานสามารถทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าการเผาอ้อยนั้น จะทำให้ค่า CCS หรือค่าความหวานของอ้อยลดลง ทำให้ขายอ้อยได้ในราคาต่ำลงก็ตาม

 

รูปภาพจาก
commons.wikimedia.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *